กิน ‘สมอ’ ดีเสมอ
สมุนไพร สมอไทย
ชื่ออื่น ม่าแน่ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่) หมากแน่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) สมออัพยา (ภาคกลาง) Myrobalan Wood, Chebulic Myrobalans
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula Retz.
วงศ์ COMBRETACEAE
ลักษณะ สมอไทยเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-12 เมตร
กิ่ง และใบอ่อนมีขนคล้ายกับสีของสนิม บริเวณลำต้นมีเปลือกขรุขระ
ใบ เป็นใบเดียว หนา กว้างประมาณ 8-15 ซ.ม. ยาวประมาณ 11-18 ซ.ม. มีสีเขียวเข้ม มีขนสีน้ำตาลอ่อน ๆ ปกคลุม
ดอก จะออกเป็นช่อ มีกลิ่นหอม สีเลืองห้อยลงดิน ยาวประมาณ 10-12 ซ.ม. มีดอก 5 กลีบ เชื่อมติดกันจนเป็นรูปคล้ายถ้วย
ผล มีสีเขียนปนแดง คล้ายกับรูปแบบผลมะละกอ มีรสฝาด หนึ่งผลมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ ผลอ่อน ผลแก่ เปลือก
สรรพคุณทางยาสมุนไพร
สมอไทยเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตอนใต้ของเรานี่เอง โดยเฉพาะในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งจะพบเห็นขึ้นอยู่มาก สมอไทยนำผลมาบดให้ละเอียดใช้โรยแผลที่เรื้อรัง
ผลอ่อนสมอไทย ใช้เป็นยาระบายได้ดี
ผลแก่สมอไทย เป็นยาสมานแผล แก้จุกเสียด แก้เจ็บคอ ขับน้ำเหลืองที่เสีย และเป็นยาเจริญอาหาร
เปลือกสมอไทย เป็นยาขับปัสสาวะ บำรุงหัวใจ ขับน้ำเหลือง
คุณค่าทางอาหาร
สมอไทยนอกจากจะนำมาเป็นยาสมุนไพรแล้ว เรายังนำมาเป็นส่วนผสมในน้ำผลไม้รวมได้อีกด้วย โดยนำเอาเฉพาะส่วนที่เป็นเนื้อนำมาปั่นร่วมกับผลไม้อื่น แคลเซียมในสมอไทยช่วยในการบำรุงกระดูกและฟัน วิตามินเอช่วยในการบำรุงสายตา บำรุงผิวพรรณ และวิตามินซีสร้างแรงยืดหยุ่นให้ผิวหน้า ป้องกันโรคลักปิดลักเปิด
ผลสมอหรือลูกสมอ เคยเป็นผลไม้ที่เด็กๆ ในครั้งอดีตชอบรับประทาน โดยเฉพาะสมอแช่อิ่มที่มีรสชาติหวานหอม เด็กๆ จะอมเหมือนอมท็อฟฟี่ อมจนความหวานเจือจางแล้วจึงค่อยเคี้ยวเนื้อที่สุดแสนจะอร่อย แต่น่าเสียดายที่เด็กสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จักสมอ หรือมีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสสมอ
ต้นสมอ เป็นต้นไม้หลายชนิดในสกุล Terminalia วงศ์ Combretaceae เช่น สมอไทย, สมอพิเภก, สมอดีงู, สมอจีน เป็นต้น มีชื่อเรียกทางภาษาบาลีว่า ‘หรีตกะ’
ลักษณะโดยรวมของสมอ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แผ่กว้าง เปลือกหนา ลำต้นขรุขระ ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่ ดอกคล้ายหางกระรอกออกเป็นช่อเดี่ยวๆ บนกิ่งหรือตามซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม
ส่วนผลของสมอนั้นแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน เช่น สมอไทยมีผลรูปป้อมๆ ผิวเกลี้ยงไม่มีขน เมื่อผลแก่จะมีสีเขียวอมเหลือง ผลแห้งสีดำ ผลของสมอพิเภกค่อนข้างกลม ผิวมีขนนุ่มสีน้ำตาล หรือน้ำตาลแกมเหลืองปกคลุมอยู่ทั้งผล มีสันตามยาว ๕ สัน ส่วนสมอดีงู หรือสมอหมึกมีผลค่อนข้างยาว หัวและท้ายแหลมคล้ายผลสมอของจีน ต้นสมอจะทิ้งใบในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม และใบอ่อนจะขึ้นมาใหม่พร้อมกับตาดอกในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน
ประโยชน์ของสมอมีมากมาย อาทิเช่น เปลือกและผลดิบมีสารฝาด จึงใช้ในการย้อมแห อวน หรือย้อมผ้าให้เป็นสีเขียวขี้ม้า เนื้อไม้ใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน ทำเกวียน เป็นต้น
ส่วนสรรพคุณด้านสมุนไพรนั้นก็มีมากมาย คือ ดอก ช่วยแก้โรคตา แดง ตาอักเสบ, เปลือกต้น ช่วยบำรุงหัวใจ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ, ผลอ่อนหรือผลดิบ ใช้เป็นยาระบาย ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้บิด แก้ไข้ แก้โลหิตเป็นพิษ แก้โรคตา แก้ธาตุกำเริบ บำรุงธาตุ และแก้ริดสีดวง, ผลสุก ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเดิน ช่วยเจริญอาหาร แก้ลมจุกเสียด แก้เจ็บคอ และขับน้ำเหลืองเสีย
ด้วยสรรพคุณทางยาเหล่านี้ของสมอ ในพระไตรปิฎกจึงได้บอกไว้ว่า ครั้งพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งอาพาธเป็นโรคผอมเหลือง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระพุทธเจ้า พระองค์จึงตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มยาผลสมอดองน้ำมูตรโค”
และในพระไตรปิฎก ก็ได้เล่าถึงอดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระหรีตกิทายกเถระ ซึ่งท่านได้กล่าวถึงผลแห่งการถวายลูกสมอไว้ใน ‘หรีตกิทายกเถราปทานที่ 8’ ว่า
ท่านได้นำผลสมอถวายแด่พระสยัมภูพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง) ทำให้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงบรรเทาพยาธิทั้งปวง พระสยัมภูพุทธเจ้าได้ทรงทำอนุโมทนาว่า ด้วยการถวายเภสัชอันเป็นเครื่องระงับพยาธินี้ ท่านเกิดเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ หรือจะเกิดในชาติอื่น จงเป็นผู้ถึงความสุขในที่ทุกแห่ง และท่านอย่าถึงความป่วยไข้ ฉะนั้น เพราะการถวายสมอนี่เอง ความป่วยไข้จึงมิได้เกิดแก่ท่านเลย นี้เป็นผลแห่งเภสัชทาน
ส่วนในตำนานได้เล่าไว้ว่า ขณะที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับเสวยวิมุตติผลสุขสมบัติอยู่ใต้ต้นไม้ พระอินทร์ทรงเห็นว่า พระพุทธองค์ควรเสวยพระกระยาหาร จึงได้นำผลสมอทิพย์มาถวาย
เชื่อหรือยังว่า ‘กินสมอ ดีเสมอ’ จริงๆ ...
Forward By: น้องตูบ www.nongtoob.com
|